หลายคนที่ได้ติดตามข่าวต่างๆในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ เราก็จะได้เห็นข่าวเกี่ยวกับการถูกเลิกจ้างของลูกจ้างเป็นจำนวนมากในหลายธุรกิจวงการ (จะเรียกว่าปลดคนงานหรือพนักงานก็ยังได้) ทั้งในประเทศและทั่วโลก
ซึ่งสาเหตุสำคัญในการถูกเลิกจ้างก็เป็นผลพวงมาจากการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจทางด้านการท่องเที่ยว, โรงงานอุตสาหกรรม, การขายของ, งานบริการ และอื่นๆ
และเมื่อพูดถึงการเลิกจ้าง ก็คงเป็นคำที่ลูกจ้างทั้งหลายก็ไม่ค่อยอยากได้ยินเท่าไหร่หรอกนะ : (
แต่ถ้าหากมีการเลิกจ้างเกิดขึ้น ก็ต้องหนีไม่พ้นสำหรับเรื่องค่าชดเชยต่างๆที่จะให้แก่ลูกจ้าง ที่ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย แต่ส่วนตรงนี้ผมไม่ขอพูดถึงนะ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผมอยากจะพูด ก็คือสิ่งนี้……..
กรณีที่นายจ้างบางคนเป็นที่จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานด้วยกันมาเป็นเวลานาน ทั้งที่ตัวนายจ้างก็ไม่อยากจะทำก็ตาม
ใครที่ยังไม่เข้าใจที่ผมบอก เดี๋ยวอ่านจากตรงนี้ไปแล้วก็จะเข้าใจเอง ว่าผมหมายถึงอย่างไรนะ : )
ผมเชื่อว่าหลายๆคนก็ต้องมีคนที่เรารู้จักที่ทำธุรกิจมาเป็นเวลานานหลายสิบปี โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่รับช่วงต่อมาจากบรรพบุรุษหรือธุรกิจอย่างอื่นที่คล้ายกับธุรกิจครอบครัว
และแน่นอนว่าธุรกิจเหล่านี้ก็น่าจะต้องมีลูกจ้างบางส่วนที่ทำงานอยู่มาเป็นเวลานาน
“ทำงานอยู่มาเป็นเวลานาน”ในที่นี้ สำหรับผมแล้วก็คือทำงานอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป หรือไม่ก็ทำงานมาตั้งแต่รุ่นก่อตั้งธุรกิจ
ที่ผมเคยเห็นลูกจ้างบางคนที่ทำงานนานสุด ก็น่าจะเกือบ 40 ปี !0__0! (นานมากนะ)
เรียกได้ว่าลูกจ้างกลุ่มนี้ที่ทำงานกันมาเป็นเวลานานก็ต้องมีอายุมากพอสมควร
ซึ่งลูกจ้างแต่ละคนในแต่ละธุรกิจ ก็มีหน้าที่ตำแหน่งที่จะต้องทำแตกต่างกันไป บางคนก็อาจทำต้องหลายตำแหน่งพร้อมกันก็ได้……..
ตั้งแต่บริการลูกค้า, ทำบัญชี, เช็คสต็อกสินค้า, กวาดถูพื้น, ออกไปหาลูกค้า, ไปซื้ออาหารจานโปรดมาให้นายจ้าง, ไปเป็นธุระแทนให้นายจ้าง รวมไปถึงสิ่งอื่นๆที่ผมนึกไม่ออก !+__@!
และเมื่อลูกจ้างเหล่านี้ทำงานมาเป็นเวลานาน ก็ต้องมีความชำนาญและรู้ใจนายจ้างเวลาที่จะทำอะไรก็ตามแต่
จนทำให้นายสามารถที่จะไว้วางใจลูกจ้างเหล่านี้ เนื่องจากการที่อยู่มานานและทำงานได้แทบไม่ขาดตกบกพร่อง
รวมไปถึงความผูกพันที่ทำงานและอยู่มานาน เหมือนกับอยู่กันเป็นครอบครัวเดียวกันไปแล้ว
อีกทั้งก็คุ้นชินกับการทำงานจนไม่อยากจะออกไปทำงานที่อื่น
และด้วยความที่อายุมากแล้ว ก็อาจลำบากในการหางานใหม่
ก็เลยทำงานอยู่ไปเรื่อยๆอย่างไม่มีกำหนด ……..
เมื่อ COVID-19 ได้เกิดขึ้น ลูกจ้างทั้งหลาย (จากหลายธุรกิจ) ก็ต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะรายได้ที่ลดลงมาของธุรกิจของนายจ้างที่นำมาสู่การปรับแผนการดำเนินงานของธุรกิจ (ที่ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้)
แต่รายจ่ายก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะค่าจ้างลูกจ้าง……….
ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องมีการลดค่าจ้างลง รวมถึงลดจำนวนวันทำงานไปด้วย (ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจนะ แต่ก่อนที่จะลด นายจ้างก็ต้องอธิบายทำความเข้าใจกับลูกจ้างก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจตรงกัน และให้ลูกจ้างยินยอมที่จะให้ทำแบบนี้)
การที่นายจ้างต้องทำแบบนี้ ก็เพื่อที่จะประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอด และหวังว่าธุรกิจจะกลับไปสู่ปกติโดยเร็ว……
บางครั้งมันก็อาจเป็นเรื่องดีที่ลูกจ้างมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น แลกกับการที่ไม่ต้องทำงานแบบเต็มเวลาเหมือนเมื่อก่อน
แต่มันก็ส่งผลตามมาคือ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของลูกจ้างที่ยังเหมือนเดิม แต่รายได้ลดลง ซึ่งถ้าสามารถลดรายจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นได้ ก็จะยิ่งดี
ส่วนนายจ้างเองก็พยายามที่จะหางานอื่นในธุรกิจที่พอจะให้ลูกจ้างทำแทนได้ จะได้มีรายได้อื่นๆเข้ามาชดเชยในส่วนของรายได้ที่หายไปเพราะ COVID-19
แต่ถ้าหากไม่มีรายได้อื่นๆเข้ามาชดเชยในรายได้ส่วนหลักที่หายไป และถ้าหากยังคงเป็นแบบนี้อีกนาน แม้ว่านายจ้างจะพยายามแล้วพยายามเล่าในการประคับประคองตัวของธุรกิจ ตัวนายจ้างก็ต้องประเมินไว้แล้วว่าคงไม่มีทางเลือกอย่างอื่น……
นอกจากจะต้องเลิกจ้างลูกจ้าง (อาจจะทั้งหมดหรือบางส่วน) เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายบางส่วนในธุรกิจ ถ้าไม่ทำก็จะทำให้ธุรกิจแย่ลงไปอีก
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ลูกจ้างทั้งหลายคงไม่อยากจะได้ยิน โดยเฉพาะกับลูกจ้างที่ทำงานมาเป็นเวลานาน
และนายจ้างเองก็คงไม่อยากจะทำหรอกนะ ถ้าไม่ได้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
แต่สำหรับนายจ้างบางคน มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานด้วยกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปี
เพราะมันอาจเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุดของนายจ้าง
ส่วนนึงที่ผมบอกว่า”มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย”นั้น อาจมาจากความผูกพันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ทำงานกันมาตลอดเป็นเวลานาน ราวกับเป็นครอบครัวเดียวกันไปแล้ว
ซึ่งผมก็เชื่อว่าตัวลูกจ้างเองที่ทำงานอยู่มาเป็นเวลานานหลายสิบปี ก็ต้องมีความผูกพันในสถานที่เราทำงานอยู่ รวมถึงการใช้ชีวิตในการทำงานร่วมกับนายจ้าง
และรวมไปถึงคุณสมบัติสิ่งอื่นๆของลูกจ้างที่นายจ้างไม่อยากจะเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็น……..
ความไว้วางใจ
ความซื่อสัตย์
ความเห็นอกเห็นใจ
ความรับผิดชอบและรู้ในหน้าที่ ไม่ต้องให้นายจ้างสั่ง
ความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ
ความสามารถและทักษะเฉพาะตัวของลูกจ้างที่หาคนอื่นทำแทนยาก
การที่รู้ใจและนิสัยของนายจ้าง
ไม่ประพฤติตัวหรือทำนิสัยแย่ๆ
และสิ่งอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึง
เพราะถ้าเป็นลูกจ้างทำงานแบบไม่มีความผูกพัน แบบว่าแค่ทำไปวันๆ และรับค่าจ้าง จบ ไม่ได้ผูกมิตรไมตรีกัน รวมไปถึงพฤติกรรมแย่ๆ ก็คงไม่ได้อยู่นานหรอกนะ จริงมั๊ย??
ซึ่งนายจ้างก็ต้องคิดแล้วคิดอีกให้รอบคอบ ก่อนที่จะบอกเลิกจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งก็ต้องมีการบอกล่วงหน้า เพื่อที่ลูกจ้างจะได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจก่อนที่จะพ้นจากงาน (ไม่ใช่แบบบอกเลิกจ้างกระทะหันแบบฟ้าผ่าอย่างที่เห็นกันในข่าวนะ)
และในบางกรณีที่นายจ้างจำเป็นต้องเลิกกิจการไปด้วย ก็อาจต้องให้ลูกจ้างสะสางงานต่างๆที่ค้างไว้ให้เสร็จก่อนที่จะเลิกจ้างเป็นทางการ ไม่อย่างงั้นจะหาคนอื่นมาทำแทนก็ยากนะ
อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างลูกจ้างก็เป็นสิ่งที่นายจ้างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากมันจำเป็นจริงๆในภาวะ COVID-19 แบบนี้ (ที่สำคัญ ก็ควรที่จะเป็นการเลิกจ้างแบบจากกันด้วยดี และพร้อมที่จะเริ่มต้นกับชีวิตใหม่ของแต่ละคน)
เพราะถ้าหากไม่เลิกจ้างในวันนี้ วันข้างหน้าก็อาจต้องเลิกจ้างอยู่ดี (ถ้าเกิดลูกจ้างไม่ลาออกเองนะ) ด้วยสาเหตุอื่นๆที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและไม่รู้ว่าจะมีอะไรรออยู่ในวันข้างหน้า
โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีที่สามารถทดแทนตำแหน่งบางอย่างที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้คนได้
หรือที่เรียกกันว่า Disruption นั่นเอง (ที่ตอนนี้เริ่มมีให้เห็นกันแล้ว)
เพราะโลกของการทำงาน (รวมถึงการจ้างงานบางอย่าง) หลัง COVID-19 ก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป………
___________________________________
You must be logged in to post a comment.