ทีแรก ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเข้าเทศกาลกินเจด้วยซ้ำ แต่ทีนี้ด้วยความที่ผมลืมไป (เพราะสถานการณ์ COVID-19) และผมก็เพิ่งนึกขึ้นได้ไม่นานมานี้ ผมขอเขียนหลังช่วงเทศกาลละกัน เพื่อเป็นการส่งท้ายก่อนที่เทศกาลนี้จะเวียนมาอีกครั้งในปีหน้า : )
อย่างที่ทราบกันว่าเทศกาลกินเจ (หรือจะใช้คำว่าทานอาหารเจ ซึ่งก็ไม่ผิดหรอก) จะจัดขึ้นทุกปีในช่วงประมาณเดือนตุลาคม โดยวันที่เริ่มและสิ้นสุดของเทศกาลกินเจจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี บางปีก็เริ่มจัดตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน เพราะต้องยึดถือตามวันที่จากปฏิทินจีน ซึ่งระยะจำนวนวันของเทศกาลกินเจจะอยู่ที่ 10 วัน

สำหรับผมแล้ว เทศกาลนี้ก็จะเป็นเทศกาลที่ผมจะได้มีโอกาสที่จะทานอาหารเจได้หลากหลาย เนื่องจากแถวบ้านผมจะมีร้านอาหารเจตั้งขึ้นมาเป็นแผงลอยหลายๆร้านติดกัน คือเป็นร้านแบบ POP-UP เปิดเฉพาะกิจในช่วงเทศกาลเท่านั้น (พอหมดเทศกาลก็รื้อร้านออกไป ค่อยมาเปิดอีกทีในปีหน้า) และสำหรับอาหารเจที่ร้านอาหารเหล่านี้ชอบขายกัน ก็แทบจะเป็นอาหารเจที่ผมชอบทาน ไม่ว่าจะเป็น ราดหน้า, ผัดซีอิ๊ว, เส้นหมี่เหลือง, หรือ แฮกึ๊น เป็นต้น

แต่สำหรับเทศกาลกินเจนี้เอง ก็ทำให้ผมได้สังเกตจากคนรอบข้างหลายๆคนที่ชอบบอกกับผมเสมอว่า……
“ในช่วงเทศกาลกินเจนี้ เราจะทานอาหารเจอย่างเดียว อะไรที่ไม่ใช่อาหารเจเราจะไม่ทาน”
พูดง่ายๆ คนเหล่านี้ที่บอกกับผม เป็นกลุ่มคนที่จริงจังมากกับการทานอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจ และจะไม่ทานอาหารที่ไม่ใช่อาหารเจแม้แต่นิดเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง ก็ทำให้ผมมีคำถามอยู่คำถามนึงที่ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่าแต่ละคนจะคิดเหมือนกับที่ผมคิดหรือเปล่า ซึ่งคำถามก็คือ…….
เราควรจริงจังกับการที่ต้องทานอาหารเจตลอดทุกมื้อในช่วงเทศกาลกินเจหรือเปล่า??????
.
.
แต่ละคนก็คงจะมีคำตอบเป็นของตัวเอง ส่วนผม ผมคงจะตอบว่า…….
“ไม่จำเป็นหรอก“

คือต้องบอกว่าถึงแม้ว่าผมก็เป็นคนนึงที่ชอบทานอาหารเจ (ไม่ว่าจะทานด้วยความเต็มใจหรือด้วยความจำเป็น) แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าผมจริงจังกับการที่ต้องทานอาหารเจตลอดทุกมื้อในช่วงเทศกาลกินเจ
เพราะบางครั้งในเทศกาลแบบนี้ มันอาจมีเหตุที่เราไม่สามารถทานอาหารเจได้ในบางมื้อ
ตัวอย่างนึงจากประสบการณ์ของผมที่เห็นได้ชัดก็คือ ร้านอาหารเจที่ผมอยากจะไปซื้อนั้นได้ปิดร้านไปแล้ว ต้องมาใหม่ในวันพรุ่งนี้ ทำให้ผมจำเป็นต้องซื้ออาหารที่ไม่ใช่อาหารเจจากร้านอื่นแทน (หรือจะเรียกว่าอาหารชอ)
หรืออาจจะเป็นเพราะว่า……
บริเวณแถวนั้นที่เราเดินทางผ่านไปมา ไม่มีร้านอาหารร้านไหนที่ขายอาหารเจแม้แต่ร้านเดียว คือมันเป็นเรื่องปกติสำหรับร้านอาหารบางร้านเลือกที่จะไม่ขายอาหารเจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องมีร้านอาหารเจมาเปิดแบบ POP-UP ตามที่ผมได้บอกไป หรือไม่อยากจะเพิ่มภาระในการขายอาหารเจด้วย (คือขายอาหารแบบที่เคยขายก็ดีอยู่แล้ว เพราะมีคนมาซื้อตามปกติ)
ตรงนี้เอง บางคนก็อาจแย้งว่าเป็นเหตุผลที่ดูฟังไม่ขึ้น และอาจจะบอกเสริมด้วยว่า “ถ้าเราจริงจังกับการที่ต้องทานอาหารเจตลอดทุกมื้อ ทำไมไม่วางแผนคิดซะละว่าอาหารเจในแต่ละมื้อของวันนี้ จะทานอะไรบ้าง, จะซื้อที่ร้านไหนและจะซื้อตอนไหน หรือไม่ก็ทำอาหารเจด้วยตัวเองสิ” ซึ่งมันก็ใช่อยู่ แต่ผมไม่ขอลงลึกไปมากกว่านี้ เดี๋ยวจะยาวเอา !0__0!

และที่ผมบอกจากคำตอบของว่า “ไม่จำเป็นหรอก” ไม่ได้หมายความว่า “ในช่วงเทศกาลกินเจเอายังไงก็ได้ นึกอยากจะทานอาหารเจวันนี้ ก็ทานไป พรุ่งนี้ไม่อยากทานก็ไม่ต้อง เดี๋ยวมะรืนอยากจะกลับมาทาน” ไม่ใช่แบบนั้น!!!
“ไม่จำเป็นหรอก” ที่ผมหมายถึงในนี้ก็คือ ถ้ามีเหตุอะไรที่สุดวิสัยที่เราไม่สามารถทานอาหารเจได้ในช่วงเทศกาล ดังตัวอย่างที่ผมได้บอกไป (หรือกรณีอื่นๆที่แต่ละคนอาจเคยเจอ) ก็อย่าไปฝืนใจว่าจะต้องทานอาหารเจตลอดทุกมื้อ ยิ่งถ้าบางคนบอกว่า “ไม่มีอาหารเจทานในมื้อนี้ ก็จะไม่ทานอะไรเลย ไม่สน ปล่อยให้ท้องร้องต่อไป” ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เอาเป็นว่าสำหรับผม การจริงจังกับการที่ต้องทานอาหารเจตลอดทุกมื้อในช่วงเทศกาลกินเจ ก็ถือเป็นการสร้างวินัยและสร้างเป้าหมายที่จะทำอะไรอย่างนึงให้สำเร็จ (ถ้ามีความตั้งใจจริงนะ) อย่างน้อยเทศกาลกินเจ ก็เป็นเทศกาลที่ทำให้เราได้มีโอกาสทานอาหารเจได้มากขึ้น แต่ถ้าหากมันมีเหตุสุดวิสัยที่เราไม่สามารถทานอาหารเจตามที่ผมได้บอกไป ก็อย่าไปฝืน ไม่ได้ทานวันนี้ เดี๋ยวก็ได้ทานในวันพรุ่งนี้
และถึงแม้ว่าเทศกาลกินเจจะผ่านพ้นไปแล้ว เราก็มีสิทธิ์ที่จะทานอาหารเจต่อไปก็ได้ เพราะมันก็มีร้านอาหารบางร้านที่ผมเห็นขายอาหารเจตลอดทั้งปีโดยที่ไม่ต้องรอให้เทศกาลมาถึง หรืออีกวิธีนึงก็คือทำอาหารเจที่บ้านด้วยตัวเองซะเลย
ยังไง ผมก็จะรอคอยสำหรับเทศกาลกินเจที่จะเวียนมาอีกครั้งในปีหน้า : )

______________________________
You must be logged in to post a comment.