สำหรับคนที่ชอบเที่ยวตามสถานที่ต่างๆในญี่ปุ่น โดยเฉพาะตามพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการ ก็อาจเคยได้ใช้อุปกรณ์ Audio Guide ที่เราสามารถใช้ในการฟังข้อมูลต่างๆประกอบในขณะที่เราเดิมชมหรือในการนั่งฟังการบรรยาย (ในกรณีที่ต้องการฟังเป็นภาษาอื่นๆ) ส่วนเรื่องของการใช้ตัว Audio Guide แบบฟรีหรือต้องเสียค่าใช่จ่ายเพิ่มเติมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการบริการของแต่ละสถานที่นะ
แต่สำหรับผมเอง ผมต้องบอกว่าตั้งแต่ไปเที่ยวญี่ปุ่นหลายครั้งก่อน COVID-19 จะระบาด ผมจำได้ว่าผมเคยใช้อุปกรณ์ Audio Guide มาแค่ 2 ครั้ง
ครั้งแรกก็คือตอนที่ผมไปพิพิธภัณฑ์แผ่นดินไหวฮันชิน-อาวาจิที่โกเบ (อันนี้ใช้ฟรี) ส่วนครั้งที่ 2 ก็เป็นตอนที่ผมไปชมนิทรรศการ Cardcaptor Sakura ที่ Mori Arts Center Gallery ที่ Roppongi Hills (อันนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม)
ซึ่งอุปกรณ์ Audio Guide ที่ผมเคยใช้ตามสถานที่ที่ผมกล่าวมาทั้งสองตามลำดับ ก็เป็นแบบนี้ตามในรูปที่เห็นนะ……

ซ้ายมือ: Audio Guide ที่ใช้ที่พิพิธภัณฑ์แผ่นดินไหวฮันชิน-อาวาจิ (เป็นยี่ห้อ Panasonic)
ขวามือ: Audio Guide ที่ใช้ในนิทรรศการ Cardcaptor Sakura (เป็นยี่ห้อ Opus)
อย่างที่เห็น อุปกรณ์ Audio Guide ทั้งสองนี้ แม้ว่าชื่อจะเรียกเหมือนกัน แต่ตัวรูปร่างและการใช้งานมันต่างกัน
………………………….
ขอเริ่มที่ตัวแรกก่อน ตัว Audio Guide ที่ผมใช้ที่พิพิธภัณฑ์แผ่นดินไหวฮันชิน-อาวาจินั้น ใช้ในตอนที่มีการเปิดให้ชมภาพยนตร์สารคดีสั้นๆเกี่ยวกับผลกระทบที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยทางเจ้าหน้าที่จะแจกให้ก่อนที่จะเริ่มฉาย ซึ่งตัว Audio Guide ตัวนี้จะเป็นตัวแปลบทบรรยายเป็นภาษาต่างๆให้ฟังโดยต้องใส่หูฟังด้วย (ถ้าจำไม่ผิด มีภาษาจีน, ภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษ จะมีตัวสวิตช์หมุนให้เลือกภาษา) เวลาที่ชมตัวสารคดีจากจอในห้องประชุม ก็ฟังตัวบทบรรยายจาก Audio Guide ไปพร้อมกัน จะทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ต้องบอกว่าตอนที่ผมใช้ Audio Guide ตัวนี้ ก็ทำให้ผมได้เข้าใจถึงเนื้อหาชัดเจนและได้รับรู้ถึงความรู้สึกจากผู้คนในสารคดีที่ได้ประสบเหตุจากแผ่นดินไหวครั้งนั้นว่ามันรุนแรงและเสียหายมากเท่าไหร่
พอใช้เสร็จก็คืนให้กับเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะออกจากห้องประชุม
…………………..
ส่วนตัวที่สอง ตัว Audio Guide ที่ผมใช้ตอนไปชมนิทรรศการ Cardcaptor Sakura ตัวนี้อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่ง Audio Guide ตัวนี้รูปร่างคล้ายโทรศัพท์มือถือแบบใหญ่ๆเป็นแบบกดปุ่มตัวเลขตามจุดต่างๆที่กำหนดไว้ในตัวนิทรรศการ เมื่อกดตัวเลขที่เราต้องการฟังก็จะมีเสียงคำอธิบายออกมาจากลำโพงในตัวของเครื่อง (เป็นเสียงของเคโระจัง เหมือนกับมีเคโระจังอยู่ใกล้ๆตัวผมเลย) สามารถปรับความเบาดังของเสียงได้ แต่ต้องบอกว่าเสียงของ Audio Guide ตัวนี้จะมีเฉพาะเสียงภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ภาษาอื่นไม่มี (ขึ้นอยู่กับการให้บริการของผู้จัดงานหรือสถานที่นะ)

เมื่อเดินออกจากนิทรรศการ ก็เอา Audio Guide ตัวนี้คืนให้กับเจ้าหน้าที่ในส่วนของทางออก
…………………
ซึ่งก็มีเพียงเท่านี้ สำหรับการใช้อุปกรณ์ Audio Guide จากประสบการณ์ที่ผมเคยใช้มาทั้งสองครั้งในญี่ปุ่น และอาจเรียกได้ว่าผมเป็นคนที่ใช้บริการ Audio Guide น้อยมาก ถ้าเทียบกับคนอื่นๆที่เคยใช้บริการแบบนี้
แต่ผมก็ต้องยอมรับว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่ผมไปมาส่วนมาก ผมไม่ค่อยเห็นจะมี Audio Guide ให้บริการมากสักเท่าไหร่ อาจเป็นไปได้ว่าไม่ถึงกับมีความจำเป็นที่ต้องใช้ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวส่วนมาก จะเป็นพิพิธภัณฑ์, วัด หรือศาลเจ้า ก็ตามแต่ จะมีแผ่นพับที่ให้ข้อมูลเป็นภาษาต่างๆของสถานที่นั้นๆอยู่แล้ว บวกกับมีป้ายคำอธิบายตามจุดต่างๆในสถานที่นั้นๆ หรือในกรณีที่มีสารคดีให้ชม ก็อาจมีเป็นคำบรรยายเป็นภาษาอื่นๆใต้ภาพแทน ส่วนมากจะเป็นภาษาอังกฤษ (คล้ายๆกับชมภาพยนตร์ที่เป็นเสียง Soundtrack และมีคำบรรยายใต้ภาพ) โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ Audio Guide
แต่สำหรับผม การได้ใช้อุปกรณ์ Audio Guide ตามสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ก็เป็นการได้รับประสบการณ์อีกรูปแบบนึงในการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตามแต่ : )

เอาเป็นว่าผมไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ใช้อุปกรณ์ Audio Guide แบบนี้อีกเมื่อไหร่ที่ญี่ปุ่น แต่ก็หวังว่าคงจะได้มีโอกาสได้ใช้อุปกรณ์แบบนี้อีก หลังจากที่ผมได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกครั้งหลัง COVID-19 คลายลง
_________________________
You must be logged in to post a comment.