ของที่ระลึกที่พิพิธภัณฑ์ราเม็ง Shin-Yokohama Ramen Museum ที่สามารถเก็บไว้เป็นความทรงจำที่เราสามารถเลือกได้ (ที่บางคนอาจไม่สังเกต)

สำหรับคนที่ชอบทานราเม็ง (หรือบะหมี่ญี่ปุ่น) ก็คงอยากจะมาหาร้านราเม็งที่อร่อยๆไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตามแต่ในญี่ปุ่น จะเป็นตามห้างสรรพสินค้า, ตามสถานีรถไฟ, ตามแถวย่านการค้า, ตามร้านเล็กๆที่นั่งได้ไม่กี่คน หรือตามร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงร้าน Ichiran Ramen (หรือที่เรียกว่าบะหมี่ข้อสอบ) ที่มีหลายสาขาอยู่ทั่วญี่ปุ่น (ถ้าใครไปทานที่สาขานัมบะ ก็สามารถไปถ่ายรูปป้ายกูลิโกะได้อีกด้วย)

แต่ถ้าใครอยากจะไปหาแหล่งที่รวบรวมราเม็งจากหลายภูมิภาคทั่วญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ก็คงจะหนีไม่พ้น Shin-Yokohama Ramen Museum ที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และเป็นทั้งร้านราเม็งที่มีเมนูและสูตรเฉพาะของแต่ละร้านที่มาจากทั่วญี่ปุ่น

13

4

ผมก็ไม่พลาดที่จะแวะไปเมื่อมาถึง Yokohama (ถ้านั่งรถไฟก็ให้ลงที่สถานี Shin-Yokohama นะ ไม่ใช่ Yokohama) โดยผมตั้งใจว่าจะลองทานราเม็งสัก 3 แบบ จาก 3 ร้าน

แต่สุดท้ายก็ทานได้แค่ร้านเดียว เพราะราเม็งชามแรกที่ผมสั่งไปทานแล้วอิ่มจริงๆ =__= จนไม่สามารถทานชามที่สองได้อีก (เดี๋ยวกลัวทานไม่หมด) ที่เห็นราเม็งในรูปล่างที่ผมทานไปนั้น ผมจำไม่ได้ว่านั่งทานในร้านไหน (แต่เช็คดูในเว็บแล้ว ราเม็งเมนูนี้มีจุดเด่นก็คือน้ำซุปที่มาจากกระดูกหมู)

5

ผมก็เลยใช้เวลาที่มีอยู่ที่ Shin-Yokohama Ramen Museum เดินถ่ายรูปบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในช่วงปี 1950 – 1960 ของญี่ปุ่น

6

7

นอกจากนี้บริเวณชั้นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ก็มีนิทรรศการให้ความเกี่ยวกับประวัติของราเม็งด้วย

8

และไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไหนก็ตามแต่ Shin-Yokohama Ramen Museum ก็มีของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวเหมือนกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ

ซึ่งผมเองก็ได้ของที่ระลึกมาเหมือนกัน ซึ่งของที่ระลึกสิ่งนั้นไม่ใช่ราเม็งสำเร็จรูปหรอกนะ แต่มาจากสิ่งที่เห็นอยู่ในรูปล่าง…………

9

รู้ไหมว่าเครื่องนี้คืออะไร????

เครื่องนี้คือ เครื่องที่รวมหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นรายวันในอดีต ที่เราสามารถพิมพ์ออกมาเก็บไว้เป็นของที่ระลึกได้อย่างที่ป้ายด้านล่างบอก “Take Home Real Vintage Japanese Newspaper: Fascinating Japanese Souvenirs!!”

โดยเครื่องนี้ตั้งอยู่บนชั้นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ (ถ้าหาไม่เจอ ถามเจ้าหน้าที่ได้นะ)

14

เนื่องจากว่าผมไม่ได้ถ่ายรูปรายละเอียดว่าใช้งานอย่างไร แค่ถ่ายรูปตัวเครื่องอย่างเดียว แต่ผมจะอธิบายวิธีใช้แบบง่ายๆให้ละกัน

วิธีใช้ก็คือ เราจะต้องหยอดเหรียญจ่าย 400 เยน ต่อการซื้อหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับ และเลือกหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์จากวันไหนก็ได้(ที่เครื่องมี) เพียงแค่เลือกวันที่ เดือน และปีค.ศ. จากหน้าจอ

จากนั้น เมื่อยืนยันก็รอตัวเครื่องพิมพ์หน้าหนึ่งของวันที่เราเลือกออกมาจากช่องด้านล่างของเครื่องที่ผมวงไว้ให้เห็น (จริงๆก็มีตัวอย่างหนีบให้ดูที่ด้านบนของตัวเครื่องด้วย)

10-2

ผมเลยเก็บไว้ 2 ฉบับ จาก 2 วันที่ไว้ ซึ่งหน้าตาก็เป็นแบบนี้

ฉบับแรก:

1

เป็นหน้าหนึ่งของวันที่ 8 มกราคม 1989 ซึ่งดูจากพาดหัวข่าวก็เป็นการเริ่มใช้ศักราชเฮเซ (Heisei) อย่างเป็นทางการวันแรก (ซึ่งศักราชเฮเซจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยศักราชถัดไปจะมีชื่อว่าเรวะ (Reiwa) ตามที่ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศ ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันถัดไปก็คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2019)

และฉบับที่สอง:

2

เป็นหน้าหนึ่งของวันที่ 12 มีนาคม 2011 ซึ่งพาดหัวข่าวก็คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของญี่ปุ่นที่โทโฮกุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ซึ่งตามมาด้วยคลื่นสึนามิที่ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง (สังเกตได้ว่าในข่าวระบุว่าขนาดของแผ่นดินไหวเป็น 8.8 แมกนิจูด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น 9.0 แมกนิจูดจากข้อมูลสรุปที่เป็นทางการ)

โดยสองเหตุการณ์จากพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งที่ผมเลือกมาเก็บไว้ ล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่คนรุ่นหลังที่จะได้มาศึกษา

………………………………………………

ท้ายสุด ผมคิดว่าจุดประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ที่มีเครื่องนี้ไว้ให้เป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว(หรือคนญี่ปุ่นเอง) ก็เพื่อให้คนที่สนใจรู้ว่าในแต่ละวันในอดีตมีเหตุการณ์อะไรสำคัญที่เกิดขึ้นบ้างในญี่ปุ่น โดยผ่านจากหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์นั่นเอง!! แม้ว่าบางคนอาจจะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ก็ตาม

11

ใครที่อยากจะได้หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นรายวันในอดีต ก็สามารถไปที่ Shin-Yokohama Ramen Museum ได้ ใครจะเลือกเอาวันที่วันไหนก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนก็แล้วกัน อย่างน้อยก็เป็นของที่ระลึกที่มีความทรงจำอีกหนึ่งชิ้น (มีค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ 310 เยนด้วยนะ)

12

3

______________________________________________

 

 


ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s