จริงๆเรื่องนี้ ผมก็อยากจะเล่าให้ฟังตั้งนานแล้ว ให้เป็นกรณีตัวอย่าง โดยเฉพาะบรรดาลูกจ้างที่คิดอยากจะลาออกไปเปิดกิจการส่วนตัว (แต่เนื่องจากภาระหน้าที่ในกิจการของญาติผม ที่ตัวผมเองต้องมาจัดการเป็นธุระให้ ก็เลยมาเล่าให้ฟังช้าไปหน่อยนะ !!=__=!!)
แล้วเรื่องมันเป็นอย่างไรล่ะ มาฟังกันเลย!! : )
เรื่องมันมีอยู่ว่าวันหนึ่ง ผมจำเป็นต้องเอารถของญาติผมไปซ่อมที่อู่แห่งหนึ่งซึ่งผมรู้จักกับเถ้าแก่ของอู่เป็นอย่างดี
และเนื่องจากว่าผมต้องทิ้งรถของญาติผมไว้ที่อู่เป็นเวลาหลายวัน ทำให้เถ้าแก่ของอู่(ที่ทำหน้าที่หลายอย่าง นอกจากเป็นช่าง) ต้องขับรถมาส่งผมที่บ้านอีกที =__= พูดง่ายๆก็คือ ให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าอย่างผมที่กลับบ้านไม่ได้นั่นเอง
ระหว่างที่นั่งรถไป เถ้าแก่ก็เล่าให้ผมฟังว่าลูกจ้างที่กำลังซ่อมรถที่ผมเห็นนั้น เป็นลูกจ้างใหม่ที่มาทำงานที่อู่ได้ยังไม่ถึงปี แต่ลูกจ้างคนนี้ก็มีฝีมือที่จะซ่อมรถได้ในระดับหนึ่ง แต่ตัวเถ้าแก่เองก็ต้องมาควบคุมอีกทีนึง เพื่อให้แน่ใจว่าซ่อมรถได้เรียบร้อยและถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง
(มันก็จริงอยู่ที่ว่าเถ้าแก่อู่ซ่อมรถเอง ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องควบคุมดูแลลูกจ้างในอู่ซ่อมรถ ว่าเวลาจะซ่อมรถคันไหน จะต้องซ่อมอะไรบ้าง ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ตัวไหนบ้าง ตามที่ลูกค้าได้แจ้งไว้)
ผมก็เลยถามเจ้าของว่า “แล้วลูกจ้างคนก่อนหน้านี้ล่ะ ไปไหนเหรอ??”
เขาก็บอกว่า ลูกจ้างคนก่อนหน้านี้ขอลาออกไปเปิดกิจการส่วนตัวแถวบ้านของเขาซึ่งก็เป็นอู่ซ่อมรถเหมือนกัน ซึ่งไม่ได้อยู่ในตัวเมืองละแวกเดียวกันและอยู่คนละพื้นที่ที่ไกลของจังหวัด (ดังนั้นเรื่องคู่แข่งก็ไม่ใช่ปัญหา)
ตัวเถ้าแก่เองก็ไม่ได้ห้าม เพราะถือว่าเป็นสิทธิ์ของลูกจ้างที่อยากจะลาออก เพียงแค่ให้บอกล่วงหน้าก่อนที่จะออกละกัน
(ไม่ใช่แบบว่านึกอยากจะออก ก็ออกไปโดยไม่บอก)
หลังจากที่ลูกจ้างคนนี้ลาออกไป เขาก็ไปเปิดกิจการอู่ซ่อมรถแบบเดียวกับที่เขาเคยทำกับเถ้าแก่คนเก่า
ส่วนเถ้าแก่คนนี้(ที่ผมเอารถไปซ่อม) ก็รับลูกจ้างคนใหม่ที่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องการซ่อมรถแทนคนเก่า
หลายเดือนผ่านไป เถ้าแก่คนนี้ก็เล่าให้ผมฟังว่าก็มีเหตุการณ์ที่เขาไม่คาดคิดเกิดขึ้น
อะไรเหรอ….
ลูกจ้างคนเก่าที่ลาออกไปได้โทรศัพท์มาหาเถ้าแก่
ผมก็เลยสงสัยว่าโทรมาถามสารสุขทุกข์ดิบหรือจะมาบอกว่ากิจการของเขากำลังไปได้สวย?? 0_0
“ไม่ใช่หรอก” เถ้าแก่ตอบผมกลับ
เขาโทรมาขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการซ่อมรถในส่วนของตัวรถที่เขาไม่เคยซ่อม!!
เถ้าแก่ก็เล่าให้ฟังต่อว่า มีลูกค้าเอารถมาให้ลูกจ้าง(คนเก่านี้)มาซ่อมที่อู่ของเขา แต่พอเช็คดูแล้ว ก็ปรากฏว่าต้องซ่อมตรงจุดนึงของตัวรถซึ่งตัวเขาเองก็ยังไม่เคยซ่อมมาก่อน จึงต้องโทรมาหาอดีตเถ้าแก่เพื่อช่วยบอกวิธีซ่อมให้ (ผมเองก็ไม่รู้นะว่าจุดนั้นของตัวรถคืออะไร??)
อดีตเถ้าแก่ก็เลยต้องถามลูกจ้าง(คนเก่า)ว่าเสียตรงไหนและบอกวิธีการซ่อมผ่านโทรศัพท์ ซึ่งก็ใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะซ่อมเสร็จ
ไม่กี่วันหลังจากนั้น ลูกจ้างคนเก่านี้ก็โทรมาบอกอดีตเถ้าแก่ของเขาว่าโดนลูกค้าของเขาต่อว่าเรื่องราคาของอะไหล่ที่เปลี่ยนว่าทำไมราคาถึงแพงขนาดนี้ ขนาดเถ้าแก่ยังบอกผมเองว่าไม่เคยคิดราคาที่แพงแบบนี้เลย (ถ้าสมมุติว่าเถ้าแก่คิดค่าซ่อม 800 บาท ตัวลูกจ้างก็จะคิด 1500 บาท เกือบเท่าตัว !0__0!)
สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะต้นทุนของราคาอะไหล่ในการซ่อม ซึ่งลูกจ้างคน(เก่า)นี้ต้องไปหาซื้ออะไหล่ของรถยนต์ในราคาที่แพงกว่า ในขณะที่อดีตเถ้าแก่ของเขาสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าจากร้านขายส่งที่รู้จัก
นอกจากนี้เถ้าแก่ก็ได้รู้จากคนละแวกแถวนั้นที่มาเล่าต่อกันให้ฟังว่าลูกจ้างคน(เก่า)นี้นอกจากคิดค่าซ่อมที่ราคาแพงแล้ว รถบางคันที่ซ่อมไปแล้วก็มีปัญหาอีก ทำให้ลูกค้าบางส่วนไม่พอใจเป็นอย่างมาก
ซึ่งตรงนี้เองอาจทำให้ผมคิดว่าเนื่องด้วยประสบการณ์ที่ยังมีไม่มากเกี่ยวกับการซ่อมรถ อาจจะทำให้ตัวลูกจ้างที่ลาออกไปไม่มีความชำนาญในการซ่อมรถในส่วนที่ไม่เคยซ่อมก็เป็นได้ ก็ทำให้รถของลูกค้ามีปัญหาเวลาขับ
แถมเขาก็ยังไม่สามารถคิดราคาว่าอะไหล่ตัวไหนควรจะคิดราคาเท่าไหร่ไม่ให้แพงเกินไปและไม่ให้ขาดทุนด้วย
หลังจากนั้นไม่นานเถ้าแก่คนนี้ก็รู้ว่าลูกจ้างคนเก่าที่ลาออกไป ได้เลิกกิจการอู่ซ่อมรถของเขาไปแล้ว!!
เถ้าแก่เองเขาก็บอกผมว่าไม่แปลกใจหรอก
“มันไม่ผิดหรอกที่ตัวเขาอยากจะเปิดกิจการส่วนตัว แต่ว่าเขาดันพลาดที่ไม่คิดให้รอบคอบว่าการจะเปิดกิจการอู่ซ่อมรถส่วนตัวเนี่ยมีภาระหน้าที่มากกว่าการเป็นลูกจ้างซ่อมรถซะอีก”
“โดยเฉพาะเวลาพูดคุยกับลูกค้าที่มาซ่อมรถ เขาบางทีก็พูดจาไม่เพราะ บางครั้งก็ถึงกับทำท่าไม่พอใจกับลูกค้าว่า ‘จะถามทำไม?? ไม่ต้องถามหรอก! ผมซ่อมได้!’ จนผมในฐานะเถ้าแก่จำเป็นต้องต่อว่าไม่ให้ทำพฤติกรรมแบบนี้กับลูกค้าที่มาซ่อมรถอีก ดังนั้นผมเองก็แปลกใจหรอกว่าทำไมเขาถึงต้องปิดกิจการ ถ้าจะเปรียบระหว่างโดนต่อว่าจากเถ้าแก่หรือลูกค้าละก็ ลูกค้าเนี่ยแหละที่ต่อว่าได้แรงยิ่งกว่าเถ้าแก่หลายเท่า (ถ้าไม่นับเถ้าแก่ที่โหดๆนะ)”
และหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้ข่าวคราวเกี่ยวกับลูกจ้างคนเก่านี้เลย
ส่วนตัว ผมก็คิดว่า บางครั้งตัวลูกจ้างเองก็อาจจะคิดว่าตัวเองมีวิชาที่ได้เรียนรู้จากเถ้าแก่ที่จะสามารถซ่อมอะไรได้ด้วยตัวเอง(แม้ว่าจะรู้ไม่หมดก็ตาม =__=) ก็เลยอยากจะเปิดกิจการเป็นของตัวเอง แต่ลืมนึกถึงภาระส่วนอื่นๆของกิจการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ, การทำบัญชีรายรับรายจ่าย, การสั่งซื้อสินค้าหรืออะไหล่, การคิดราคาของการบริการ, การบริหารคน(โดยเฉพาะลูกจ้างทั้งหลาย ถ้ามี) และที่สำคัญก็คือเรื่องการพูดคุยกับลูกค้าและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกิจการ (อดีตลูกจ้างบางคนก็ต้องรู้แหละว่ามีภาระพวกนี้รออยู่ แต่ก็อาจคิดไม่ถึงว่ามันจะเยอะมากมายขนาดนี้)
ผมก็ไม่รู้หรอกว่าตอนนี้อดีตลูกจ้างของเถ้าแก่คนนี้ไปทำอะไรแล้ว
แต่ผมคงจะรู้ว่าเขารู้สึกเจ็บปวดมากแค่ไหนที่ลาออกมาเปิดกิจการตัวเองและได้สิ่งที่ไม่คาดคิดกลับมา เพียงเพราะไม่ได้คิดให้รอบคอบ
________________________________________________