แทบเกือบจะทุกครั้งที่ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นในทริปที่ผ่านๆมา ผมก็จะต้องมีบัตร JR PASS ใช้ตลอดเนื่องจากการที่ผมเดินทางไปหลายเมือง รวมถึงการใช้งานที่คุ้มค่าเวลาที่จะนั่งรถไฟสายต่างๆของ JR ไม่ว่าจะเป็นรถไฟท้องถิ่น หรือแม้แต่รถไฟชินคันเซ็นก็ตามแต่นะ
และภาพที่ผมมักจะคุ้นตาเสมอๆเมื่อนึกถึงการใช้ JR PASS ก็คือบัตรกระดาษแข็งใหญ่แบบพับได้ที่จะมีส่วนที่เป็นบัตรสีเขียว (ที่ระบุว่าใช้เดินทางได้ตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน) ติดแนบไว้ด้านหลังของบัตร และผมจะต้องพกบัตรใบนี้ติดไว้กับตัว (ตลอดเวลาที่จะนั่งรถไฟ JR) เพื่อที่สามารถโชว์ให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำตามแผงกั้นดูได้เวลาที่ผมจะเข้าออกจากสถานีต่างๆ
ส่วนตัวบัตร JR PASS แบบกระดาษแข็งที่ผมว่าก็เป็นไปตามที่เห็นในรูปล่าง…..

คนที่ใช้ JR PASS เป็นประจำหลายคนก็ต้องคุ้นกับรูปภาพในส่วนหน้าของตัวบัตรที่มีต้นดอกซากุระพร้อมกับภูเขาไฟฟูจิในฉากหลังซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น และถ้าเปิดดูด้านในของบัตรก็จะมีเงื่อนไขการใช้พร้อมกับเส้นทางต่างๆทั่วญี่ปุ่นที่สามารถใช้กับบัตรใบนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หลายคนที่เตรียมกำลังจะไปเที่ยวญี่ปุ่นในปีนี้ ปี 2023 (หรือที่ได้ไปเที่ยวแล้วตั้งแต่ญี่ปุ่นเปิดประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา) และมีแผนที่จะใช้บัตร JR PASS ในการเดินทาง ก็คงจะทราบกันแล้วว่าทาง JR ได้เปลี่ยนรูปแบบของการใช้บัตร JR PASS แบบใหม่ โดยจะเป็นแบบบัตรสีเขียวเล็กๆใบเดียวแทน
**อันที่จริง ผมยอมรับว่าผมเพิ่งจะรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปแบบการใช้บัตร JR PASS เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทั้งๆที่เริ่มใช้กันตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะในตอนนั้นผมยังไม่ได้เริ่มวางแผนที่จะเที่ยวญี่ปุ่น ก็เลยไม่ได้เปิดอ่านตามข่าวนะ**
ซึ่งตามที่ผมเข้าใจก็คือ วิธีการเข้าออกตามสถานีรถไฟ JR ต่างๆของผู้ที่ถือบัตร JR PASS (แบบใหม่) คือเพียงแค่ใช้บัตรสีเขียวเล็กๆใบนี้เสียบเข้าไปในช่องเสียบบัตรของแผงกั้นสถานีโดยที่ไม่จำเป็นต้องยื่นแสดงให้กับเจ้าหน้าที่ดูเหมือนแต่ก่อน ถ้าจะให้เห็นภาพชัดๆก็เหมือนกับใช้บัตร One Day Pass นะ เพียงแต่ว่าอันนี้เป็น JR PASS (จะเป็น 7 วัน 14 วัน หรือ 21 วัน ก็แล้วแต่การใช้) และเมื่อเดินผ่านแผงกั้นแล้วก็อย่าลืมหยิบบัตรคืนด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงเท่ากับว่าบัตร JR PASS แบบกระดาษแข็งใหญ่ที่ผมเคยใช้มาตลอดก็จะไม่มีโอกาสได้ใช้อีกแล้วหลังจากนี้ แต่ผมก็พอจะเข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมทาง JR ถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบของบัตรให้เหลือเป็นแบบบัตรสีเขียวใบเดียว อาจจะเป็นไปได้ว่าเพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยวในการใช้เป็นการเสียบบัตรเข้าไปตรงแผงกั้นของสถานีเหมือนกับผู้โดยสารคนอื่นๆ อีกทั้งก็อาจจะเป็นการลดภาระของเจ้าหน้าที่ในสถานีที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ประจำตลอดเวลาก็เป็นได้ อันนี้ผมก็ค่อนข้างเห็นด้วย (แต่ผมยอมรับว่าบัตร JR PASS รุ่นเดิมแบบกระดาษแข็งใหญ่มีข้อดีคือ มองเห็นได้ชัดและยากที่จะทำหาย)

เอาเป็นว่าผมจะได้รู้ซะทีเกี่ยวกับการใช้บัตร JR PASS แบบใหม่ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ผมจะเอา Exchange Order ไปแลกเป็นบัตร JR PASS ผมจะได้ไม่ต้องงงว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นแบบนี้แล้วเหรอ จะได้รู้ว่าทาง JR เขาเปลี่ยนรูปแบบบัตร JR PASS แล้ว (ปัจจุบันเวลาจะแลกบัตร JR PASS สามารถแลกได้ทั้งที่เคาน์เตอร์หรือที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ) และผมเองก็จะต้องระมัดระวังว่าอย่าให้บัตร JR PASS (ที่เป็นแบบบัตรสีเขียวเล็กๆ) หายไปก็แล้วกัน
ส่วนบัตร JR PASS รุ่นเก่าที่เป็นแบบกระดาษแข็ง ผมก็จะเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะรู้อยู่แล้วว่าบัตรแบบนี้จะไม่มีอีกแล้ว อีกทั้งก็เป็นสัญลักษณ์ที่บอกได้ว่าหากใครมีบัตร JR PASS รุ่นเก่าแบบนี้แปลว่าคนๆนั้นได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นก่อนที่โควิดจะระบาด (คิดว่ากลุ่มสุดท้ายที่ได้ใช้น่าจะเป็นช่วงราวต้นปี 2020 นะ)
_______________________________________
You must be logged in to post a comment.