ผมได้เตรียมใจและรู้เลยว่าวันนี้จะต้องมาถึง: เมื่อผมป่วยเป็น COVID-19…..

ถ้านับจนถึงตอนนี้ ก็เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้วที่ COVID-19 ได้ระบาดไปทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ป่วยเอง รวมไปถึงเรื่องทางเศรษฐกิจ, การพบปะผู้คน, การทำงาน, การใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็รวมไปถึงเรื่องการที่เราจะต้องระวังตัวไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ COVID-19

แต่ก็ต้องยอมรับว่า COVID-19 เป็นโรคระบาดที่แพร่กันได้ง่ายมากที่ทำให้ทุกคนต้องระวังไม่ให้ตัวเองไปติดเชื้อจากคนอื่นไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญก็คือการสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมือ

เหมือนกับคนอื่นๆ ตัวผมเองก็ต้องระวังตลอดที่จะไม่ให้ตัวเองติด COVID-19 ตั้งแต่เริ่มระบาดในช่วงแรกๆ จนมาถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อดังกล่าว (ที่ได้เห็นและติดตามจากข่าวสารต่างๆ) และผมเองก็คิดอยู่เสมอว่าถ้าหากผมเกิดติด COVID-19 ขึ้นมาจริงๆ ผมจะต้องทำอย่างไร เลยทำให้ผมต้องไปศึกษาหาอ่านข้อมูลและวิธีปฏิบัติว่าจะต้องทำอย่างไรหากติด COVID-19

โดยถ้ารู้ว่าตัวเองติดเชื้อจริง จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูก รวมไปถึงการเตรียมตัวและเตรียมใจ เพราะผมรู้สึกสังหรณ์ใจว่าสักวันหนึ่งผมอาจจะเป็นผู้ป่วย COVID-19 เหมือนกับคนอื่นๆ

และสิ่งที่ผมได้คิดไว้ล่วงหน้านั้นก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ

เมื่อผมรู้ว่าตัวเองป่วยเป็น COVID-19 ซึ่งช่วงที่ผมป่วยเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา……

อย่างที่เห็นจากรูป นี่เป็นชุด ATK ที่ผมตรวจด้วยตัวเองหลังจากที่รู้สึกว่าตัวเองอาจจะมีความเสี่ยงที่จะติด COVID-19 และผลปรากฏก็เป็นอย่างที่เห็น มีขีด 2 ขีด แปลว่าผมได้ติดเชื้อและป่วยเป็น COVID-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เอาเป็นว่า เดี๋ยวผมจะย้อนไปตั้งแต่แรกเริ่ม ตั้งแต่วันที่ผมสังเกตอาการของตัวเอง ไปจนถึงวันที่กักตัววันสุดท้ายเลย แต่พยายามจะไม่ยาวมาก

…………….

วันที่ 0: ก่อนวันที่ผมจะตรวจว่าผมป่วยเป็นโควิด

วันนั้นตั้งแต่ช่วงเช้าผมรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองไอบ่อยมาก (คือไอบ่อยแบบไม่เคยไอบ่อยขนาดนี้เลย) แต่ก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไร เพราะตัวผมก็ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่พบปะผู้คน จะมีถอดบ้างในเวลาที่อยู่คนเดียวหรือไม่ก็ทานอาหาร

พอตกช่วงบ่าย ผมก็รู้สึกเหมือนกับเจ็บที่คอนิดนึง ซึ่งตรงนี้ผมก็เริ่มนึกในใจว่าตัวเองจะติดเชื้อ COVID-19 หรือเปล่า แต่ผมก็เคยอ่านข้อมูลว่าการที่มีอาการเจ็บคอก็ไม่ได้แปลว่าจะติดเชื้อ COVID-19 เสมอไป ผมก็เลยไม่ได้คิดมากอะไร

แต่พอตกช่วงกลางคืน ในคืนนั้นผมรู้สึกเหนื่อยมากและตัวร้อนด้วย เลยตัดสินใจรีบเข้านอนอย่างเร็ว น่าจะประมาณช่วง 19:30 (ปกติผมเป็นคนเข้านอนดึก แต่ก็ไม่เสมอไป) และในระหว่างช่วงที่ผมหลับผมก็มีลุกขึ้นมาเช็ดตัวเพื่อไม่ให้ตัวร้อน

ตรงช่วงนี้เองทำให้ผมบอกกับตัวเองว่า “จะต้องไปซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจสักหน่อยว่าตัวผมติดเชื้อ COVID-19 หรือเปล่า…….”

…………..

วันที่ 1: วันที่ผมตรวจพบว่าผมติดเชื้อ COVID-19

ในเช้าวันนั้น ผมรีบออกไปซื้อชุดตรวจ ATK (จากร้านขายยาที่อยู่ใกล้บ้าน) มาตรวจพร้อมกับคนอื่นๆในครอบครัว (สำหรับวิธีการใช้ชุดตรวจ ATK ทุกคนสามารถไปค้นหาอ่านกันได้นะ ผมจะขอไม่พูดถึง) และผลของการตรวจของผมก็ออกมาเป็นอย่างที่ผมได้คาดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว

ก็คือ ผมติดเชื้อ COVID-19 โดยผลที่แสดงออกมาจากชุดตรวจจะเป็น 2 ขีด (ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นก็จะเป็นแค่ขีดเดียว)

มาถึงตรงนี้ ผมเองไม่ได้ตกใจอะไร ผมก็ตั้งสติแล้วบอกกับทุกคนในครอบครัวว่า ผมติดเชื้อ COVID-19 จากนั้นผมก็เริ่มโทรไปปรึกษากับคนรู้จักที่เคยทำงานเป็นพยาบาลว่าควรที่จะทำอย่างไร จึงได้คำตอบว่าให้ไปติดต่อโรงพยาบาลที่มีจุดตรวจ RT-PCR เพื่อเช็คอีกครั้งว่าผมติดเชื้อ COVID-19 จริง

ผมก็รีบไปที่จุดตรวจ RT-PCR เพื่อที่จะทำการแหย่รูจมูก เก็บสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ และนำสารคัดหลั่งนี้ไปตรวจ (ช่วงเวลาที่ไปตรวจประมาณ 11:00) ซึ่งกว่าจะรู้ผลก็ตกกลางคืนไปแล้ว ระหว่างที่ผมรอผลตรวจ ผมก็ต้องแยกตัวเองออกไปจากคนอื่นในช่วงเวลานี้ ซึ่งผมยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ลุ้นมากรวมไปถึงการเตรียมตัวและเตรียมใจถ้าหากผล RT-PCR ออกมาว่าผมติดเชื้อ COVID-19 จริง

Photo by visionart.av on Pexels.com

ซึ่งผลก็ออกมาว่าผมติดเชื้อ COVID-19 จริง 100%

ทำให้คืนนั้น ผมต้องกักตัวแยกจากคนอื่นๆในครอบครัว โชคดีที่ครอบครัวของผมได้จัดเตรียมห้องแยกไว้สำหรับผมแล้ว ทำให้ผมสามารถเข้าไปอยู่ได้เลย

…………….

วันที่ 2: วันที่ผมย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเพื่อที่จะกักตัว

แม้ว่าผมจะกักตัวแยกจากคนอื่นๆในครอบครัวแล้ว คนในครอบครัวรวมถึงตัวผมเองก็มีความเห็นที่ตรงกันว่า ถ้าจะดีที่สุด ผมควรที่จะต้องไปกักตัวที่โรงพยาบาล เพราะถ้าหากผมมีอาการอะไรที่รุนแรง ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็สามารถช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งก็รวมไปถึงเรื่องของการส่งอาหารให้ทานครบ 3 มื้อ และเรื่องของการตรวจร่างกายเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าผมไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านี้

ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องโชคดีของผมที่คนในครอบครัวของผมสามารถติดต่อโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่สามารถรับตัวผมไปกักตัวได้ (ผมไม่ขอเปิดเผยชื่อของโรงพยาบาลนะ) โดยการที่ผมจะไปกักตัวที่โรงพยาบาลนี้ก็จะต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพที่ผมทำไว้ได้ (แต่จะต้องจ่ายเงินสำรองออกไปก่อน) และการกักตัวในโรงพยาบาลจะใช้เวลาทั้งหมด 7 วัน

และเมื่อโทรติดต่อและพูดคุยตกลงกับทางโรงพยาบาลเรียบร้อย ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มีรถพยาบาลมารับตัวผมถึงบ้าน โดยผมก็ได้ออกมาพร้อมกับกระเป๋าเดินทางที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้จำเป็น พร้อมที่จะไปใช้ชีวิตอยู่เป็นผู้ป่วยโควิดที่โรงพยาบาล 7 วัน

เมื่อถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็ให้ผมเปลี่ยนชุดเป็นชุดผู้ป่วยและให้ใส่ชุดผู้ป่วยนี้ไปตลอดทั้ง 7 วัน (เท่ากับว่าผมไม่ต้องใช้ชุดที่ผมเตรียมมาจากบ้าน) และแนะนำบอกวิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆในห้องพัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความดัน, เครื่องวัดอ็อกชิเจนปลายนิ้ว และปรอทวัดไข้

เพราะในแต่ละวันผมจะต้องกรอกส่งอาการของตัวเองไปให้เจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะเช็คได้ว่าตัวผมมีอาการผิดปกติอะไรหรือเปล่า โดยให้ถ่ายรูปตารางอาการและส่งผ่านทาง LINE ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด โดยให้ส่งผลของอาการทั้งหมด 5 ครั้งในแต่ละวัน (และจะบอกว่านี่เป็นการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วเป็นครั้งแรกของผม เพราะผมไม่เคยใช้มาก่อนเลย ซึ่งก็มีลักษณะตามที่เห็นในรูปล่าง)

Photo by Tima Miroshnichenko on Pexels.com

อีกทั้งทางโรงพยาบาลก็มีแบบฟอร์มให้กรอกเป็นตารางบันทึกอาการป่วยในแต่ละวัน ว่าวันนี้ ช่วงเวลานี้ ผมมีอาการอะไรไหม เช่น ยังเจ็บคออยู่หรือเปล่า, ยังไออยู่ไหม, สามารถรับกลิ่นรสอาหารได้หรือไม่, มีการรับรสได้ไหม ประมาณนี้  โดยแบ่งตามระดับ มีอาการ, มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย แล้วให้ถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่ผ่าน LINE เช่นกัน

และวันนี้ก็จะถือว่านับเป็นวันแรกของการกักตัวไปจนครบ 7 วัน

………

วันที่ 3 – 7: ช่วงเวลาที่กักตัวอยู่ในโรงพยาบาล

ในช่วงเวลานี้ กิจกรรมในแต่ละวันของผมก็จะเหมือนทุกอย่าง ผมจะ List เป็นข้อๆละกัน เอาเป็นภาพรวม ตามนี้…..

– ทางโรงพยาบาลก็จะจัดส่งอาหาร 3 มื้อให้ทาน (เช้า กลางวัน เย็น) โดยจะวางไว้บนโต๊ะที่อยู่หน้าห้องพัก และจะมีเจ้าหน้าที่แจ้งมาใน LINE ว่า ได้ส่งอาหารมาที่หน้าห้องแล้ว ให้ไปเปิดประตูหยิบได้เลย อีกทั้งในช่วงวันแรกๆจะมีให้ทานยาฟาวิพิราเวียร์

– มีชุดผู้ป่วยให้วางไว้หน้าห้องในช่วงเย็นไว้ให้ผมได้เปลี่ยน (พร้อมกับอาหารเย็น)

– ถ้าหากว่าหิว อยากทานอะไรนอกเหนือจากอาหารที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้ ก็สามารถสั่งได้จาก Food Delivery (ซึ่งก็มีบ้างที่ผมใช้)

– ส่วนเรื่องน้ำดื่ม (ที่เป็นน้ำเปล่าขวด) ทางโรงพยาบาลมีบริการน้ำดื่มให้เป็นแพ็คเลย ถ้าหากว่าไม่พอก็สามารถขอเพิ่มได้ตลอด (โดยส่งข้อความผ่าน LINE)

– มีการกำหนดเวลาทิ้งขยะด้วย ก็คือผมต้องเอาขยะที่ต้องทิ้งใส่ถุง (ที่ทางโรงพยาบาลได้จัดไว้ให้) และมัดปากถุงแล้วนำไปวางไว้หน้าห้องพัก

– จะมีบางวันที่จะมีเจ้าหน้าที่มาเอกซเรย์ปอดให้ถึงหน้าห้องเลย

– ในช่วงเวลาว่างของการกักตัว ผมก็จะนั่งติดตามดูข่าวสารต่างๆ รวมไปถึงฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์จาก Smartphone ของผม และมีบ้างที่ผมดูทีวี แต่ก็ไม่เยอะเท่าไหร่นัก อีกทั้งก็มีบ้างที่ผมใช้ช่วงเวลานี้โทรศัพท์ไปหาญาติที่เป็นห่วงผม รวมไปถึงลูกค้าและคู่ค้าที่ติดต่อกันเป็นประจำ โดยผมบอกว่าอยู่ในช่วงกักตัวอยู่ ไม่ต้องเป็นห่วง ซึ่งทุกคนก็เข้าใจดี : )

และทั้งหมดนี้ก็คือกิจกรรมที่ผมทำในช่วงตลอดวันที่ 3 – 7 ซึ่งอาการภาพรวมของผมในช่วงนี้ก็ไม่มีอะไรผิดปกติอย่างรุนแรงใดๆ

……………

วันที่ 8: วันสุดท้ายของการกักตัวอยู่ในโรงพยาบาล และกลับไปกักตัวที่บ้านต่อ

เป็นวันที่ผมกักตัวเป็นวันสุดท้ายในโรงพยาบาล ในวันนั้นก็ไม่มีอะไรมาก ทางเจ้าหน้าที่ก็นำเอกสารให้มาเซ็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิประกันสุขภาพที่ผมได้ทำไว้ และมีการให้ใบรับรองแพทย์จากคุณหมอของโรงพยาบาลที่เฝ้าดูติดตามอาการของผม (วางไว้บนโต๊ะที่อยู่หน้าห้องพักเช่นเคย) รวมไปถึงการที่คุณหมอของโรงพยาบาลได้โทรมาพูดคุยกับผมในเรื่องภาพรวมของอาการ (โดยเฉพาะในเรื่องเสียงของผมที่คุณหมอบอกว่าดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย ซึ่งผมเองก็ไม่ได้สังเกต) และวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน ผมก็ขอบคุณคุณหมอท่านนี้ที่ให้คำแนะนำที่ดีสำหรับผม

หลังจากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรมาติดต่อผ่าน LINE ว่าตอนจะกลับจะให้ญาติมารับกี่โมง (ตอนกลับต้องให้ญาติหรือคนรู้จักมารับอย่างเดียว) เพราะเมื่อถึงเวลาญาติมารับก็จะมีเจ้าหน้าที่เดินไปส่งถึงที่รถเลย ผมก็โทรไปบอกกับคนในครอบครัวของผม และก็โทรบอกเจ้าหน้าที่สำหรับเวลาที่ผมจะกลับเพื่อที่จะได้เข้าใจตรงกัน

และพอถึงสักช่วงบ่ายๆ ผมก็ได้ออกจากโรงพยาบาลและกลับไปบ้านเพื่อที่จะกักตัวต่ออีก 3 วัน ตามที่คุณหมอได้สั่งไว้

…………….

วันที่ 9 – 11: ช่วงเวลาที่กักตัวอยู่ในบ้าน

ในช่วงนี้ ก็ไม่มีอะไรมาก ผมก็กักตัวอยู่ในห้องๆหนึ่งต่างหากในบ้านซึ่งเป็นห้องเดียวกับที่ผมกักตัวในช่วงก่อนที่ผมจะไปโรงพยาบาล (มีห้องน้ำในตัว)  โดยมีคนในครอบครัวของผมส่งอาหารให้ 3 มื้อ (เหมือนกับตอนอยู่ที่โรงพยาบาล) และโทรมาทาง LINE สอบถามอาการของผมเป็นระยะๆ ซึ่งก็ไม่มีอะไรผิดปกติใดๆ

และสำหรับกิจกรรมที่ผมทำในช่วงที่กักตัวอยู่ในบ้านนี้ ก็เป็นการมานั่ง List รายการว่าจะต้องทำอะไรบ้างหลังจากที่พ้นการกักตัวแล้ว รวมไปถึงการนอนพักผ่อนให้เยอะที่สุด เตรียมนับถอยหลังถึงวันที่พ้นการกักตัวสักที !0__0!

…………

วันที่ 12: วันสุดท้ายของการกักตัว และวันที่ผมจะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

ในวันสุดท้ายนี้ ก็เริ่มต้นจากที่ผมจะต้องตรวจ ATK อีกครั้งนึง เพื่อให้มั่นใจอีกทีนึงว่าผมไม่มีเชื้อโควิดแล้ว ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นไปตามที่เห็นในรูปล่าง……

มีแค่ขีดเดียว แปลว่า ไม่มีเชื้อโควิดแล้ว : )

นั่นก็ทำให้ช่วงเวลาการกักตัวของผมได้สิ้นสุดลงทันที และผมก็สามารถที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว เพียงแต่ก็ต้องระวังตัวเอง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 เหมือนที่เคยทำมา

……………

และทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่ผมได้เล่าเกี่ยวกับการเป็นผู้ป่วยจากการติดเชื้อ COVID-19 และการกักตัวของผมในตลอดทั้ง 12 วันที่ผ่านมา (บวกกับวันที่ 0 อีกวัน)

สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ที่ได้เกิดขึ้นกับผม ผมอยากจะบอกตามตรงว่าผมได้เตรียมใจและรู้ว่าล่วงหน้าว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ผมจะติดเชื้อ COVID-19 เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าเชื้อ COVID-19 สามารถแพร่ได้ง่ายมาก (โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่ยังระบาดอยู่ในช่วงนี้) เลยทำให้ผมไม่ได้รู้สึกตื่นตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม

ส่วนอาการข้างเคียงที่เรียกว่า Long Covid โดยรวมของอาการแล้ว ผมก็รู้สึกเหมือนกับเป็นปกติ อาจจะมีบ้างที่ผมรู้สึกว่าเวลาที่จะคิดอะไรก็ต้องใช้เวลาคิดนานกว่าปกติ (ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเรื่องบางเรื่องที่ผมเขียนในปีนี้จะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างสั้นนะ หรือทำไมช่วงนี้ผมถึงเขียนบล็อกน้อยกว่าที่ผ่านๆมา) เลยทำให้ผมต้องใช้วิธีมานั่งจดใส่กระดาษว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อป้องกันการลืม และมันก็ใช้ได้ผลดี

นอกจากนี้ เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ได้สอนหลายสิ่งหลายอย่างให้กับผม ไม่ว่าจะเป็น……

– เรียนรู้ในการอยู่ด้วยตัวเองคนเดียว

– ให้รู้ว่าการกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ไม่ได้นานเลย ถ้าเราคิดว่าช่วงเวลา 10 วันนี้ที่กักตัวมันสั้น มันก็จะทำให้เรารู้สึกว่ามันสั้นจริงๆ เหมือนกับคิดว่า “มันก็แค่แป๊บเดียวแหละ เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป”

– การมานั่งทบทวนตัวเองว่าในชีวิตที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรไปบ้าง มีอะไรไหมที่ยังอยากจะทำที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของเรา ต่อผู้อื่น และต่อสังคมที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน

– การได้เรียนรู้ว่า ชีวิตนี้มันสั้นนัก และควรที่จะใช้ชีวิตไม่ให้สูญเปล่า

– การนำประสบการณ์ในครั้งนี้ไปปรับใช้กับเรื่องต่างๆในชีวิตในปัจจุบันและในอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะไม่แน่ก็อาจจะมีโรคระบาดชนิดอื่นในอนาคตก็เป็นได้

เอาเป็นว่านี่ก็จะเป็นเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตของผมที่ผมจะไม่มีวันลืม และผมจะคอยเตือนตัวเองในเรื่องของการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 รวมไปถึงการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็น

เพราะสถานการณ์ COVID-19 ก็จะยังอยู่กับเราต่อไปจนกระทั่งแน่ใจได้แล้วว่าโรคนี้สามารถควบคุมได้อยู่จริงๆ

____________________________________