ต้องเรียกว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ชิ้นที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำอาหารบนเตาแก๊สแรงดันสูงก็ว่าได้ เพราะถ้าเกิดไม่มีสิ่งนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอาหารกันอย่างไร !=__=!
ซึ่งบางคนที่เป็นมือใหม่ที่ใช้เตาแก๊สแรงดันสูง ไม่ว่าจะทำอาหารอะไรก็ตามแต่ ก็อาจยังไม่รู้ว่าขาวางเตาแก๊สแรงดันสูงที่ใช้กันมีอยู่กี่แบบกี่ประเภท
เพราะฉะนั้น…..
มาดูกันดีกว่าว่าขาวางเตาแก๊สแรงดันสูง (หรือที่เรียกกันง่ายๆว่าขาวางเตาฟู่) มีกี่แบบกี่ประเภทกัน เอาแบบว่าให้เห็นภาพและเข้าใจง่ายๆไปเลยนะ : )
(ผมจะไม่อธิบายรวมถึงขาวางเตาพิเศษบางรุ่นที่คนส่วนน้อยใช้กัน อย่างเช่น ขาวางเตา C40, KB3, KB4 หรือ KB10 เดี๋ยวจะยิ่งงงกันเข้าไปใหญ่)
**อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของตัวขาวางเตาแก๊สแรงดันสูงกันก่อน**
โดยปกติแล้ว ขาวางเตาแก๊สแรงดันสูงที่ใช้กันทั่วไปที่เราเห็นกันนั้น ส่วนมากจะทำจากเหล็กพับ เนื่องจากมีราคาที่ไม่แพงมาก จะมีบ้างที่ทำจากเหล็กหนา (ซึ่งมีน้ำหนักที่หนักกว่าเหล็กพับ) หรือไม่ก็ทำจากสแตนเลสที่มีราคาที่แพงกว่า แต่การใช้งานก็เหมือนกันทุกอย่าง : )
และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการอ่าน ผมขอแบ่งประเภทของขาวางเตาแก๊สแรงดันสูงออกเป็นสามส่วน (และใส่เป็นตัวเลขโรมันกำกับไว้) ซึ่งก็คือ………
I. แบ่งตามลักษณะรูปทรงของขาเตา
II. แบ่งตามลักษณะความสูงยาวของขาเตา
และ
III. แบ่งตามขนาดช่องวางของขาเตา
มาดูส่วนแรกกัน
I. แบ่งตามลักษณะรูปทรงของขาเตา
ขาวางเตาแก๊สแรงดันสูงที่ใช้กันทั่วไปก็จะมีอยู่สองแบบตามรูปทรง ซึ่งประกอบไปด้วยขาเหลี่ยมและขากลม (บางคนก็อาจเรียกว่าขาวางเตาฐานเหลี่ยมและขาวางเตาฐานกลม) แม้ว่ารูปทรงจะต่างกัน แต่การใช้งานเหมือนกันทุกอย่าง โดยทั้งสองแบบสามารถใช้ได้กับเตาเกือบทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็น เตา KB5, KB7, KB8 หรือ C30 (แต่จะต้องมีกระทะของเตารองรับด้วยนะ)
เพียงแต่ว่าตัวขาของขาเหลี่ยม (ถ้ามองดูจากภายนอกแล้ว) จะมั่นคงและแข็งแรงกว่าขากลมเท่านั้นเองและราคาก็แพงกว่าด้วย (แต่ก็แพงไม่มาก)
ขาเหลี่ยม
ขากลม
…………………………….
ทีนี้มาดูส่วนที่สองกัน
II. แบ่งตามลักษณะความสูงยาวของขาเตา
ในส่วนของความสูงก็จะแบ่งทั่วๆไปได้อยู่สามแบบ ซึ่งประกอบไปด้วยขาสูง, ขากลาง และขาเตี้ย ซึ่งจะพบเห็นได้จากทั้งขาเหลี่ยมและขากลมอย่างที่ได้อธิบายไปในส่วนแรกแล้ว (รูปทั้งหมดในส่วนนี้ ขอใช้เป็นรูปขาเหลี่ยมทั้งหมดละกัน จะได้เข้าใจและเห็นภาพชัดเจนนะ)
ขาสูง
– เหมาะสำหรับการใช้งานทำอาหารทั่วๆไปที่ต้องยืนทำ อย่างเช่นทำกับข้าว (จะผัด, ทอด อะไรก็ตามแต่) หรือทำอาหารจานด่วนก็ได้
– เหมาะสำหรับใช้วางกระทะ, หม้อหรือซึ้งขนาดเล็ก
– ส่วนมากจะใช้กับเตา KB5 (จะใช้กับเตาที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ก็ยังได้)
ขากลาง
– เหมาะสำหรับการใช้งานในการต้มหรือนึ่งอาหารที่ต้องเปิดทิ้งไว้ (แต่อย่าลืมเฝ้าดูละกันนะ!!) หรือไม่ก็ทำกับข้าวต้องที่ใช้กระทะใบใหญ่
– เหมาะสำหรับใช้วางกระทะ, หม้อหรือซึ้งขนาดใหญ่
– ส่วนมากจะใช้กับเตาตัวใหญ่ๆ อย่าง KB7 หรือ KB8 (แต่ก็สามารถใช้กับเตา KB5 ได้เหมือนกันซึ่งก็ไม่ผิดหรอก)
ขาเตี้ย
การใช้งานก็คล้ายกับขากลาง เพียงแต่จะเตี้ยกว่าหน่อย ซึ่งขาแบบนี้น้อยมากที่จะใช้งานกัน
…………………………….
และส่วนสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ……….
III. แบ่งตามขนาดช่องวางของขาเตา
ไม่ว่าจะเป็นขาทรงเหลี่ยมหรือกลมหรือเป็นขาที่มีความสูงแค่ไหน ก็จะมีขนาดของช่องวางเตาที่เรามองข้ามไปไม่ได้ เพราะขนาดของช่องวางแต่ละแบบไม่สามารถวางเตาแก๊สได้ทุกแบบนะ
โดยทั่วไปมีอยู่สองแบบ ประกอบไปด้วยขาปากแคบและขาปากกว้าง (ให้สังเกตจากความยาวของลูกศรที่ผมทำไว้)
ขาปากแคบ
– ใช้ตั้งได้กับเตา KB5, KB7 และ KB8
– แต่ใช้กับเตา C30 ไม่ได้นะ เพราะปากของช่องวางที่แคบ ขืนวางลงไปก็วางไม่ได้อยู่ดี : (
ขาปากกว้าง
– ใช้ตั้งกับเตา KB7, KB8 และ C30 (ต้องมีกระทะของมันด้วยนะ อย่างที่บอกไปแล้ว)
– ส่วนเตา KB5 จะใส่ไม่ได้นะ เนื่องจากปากของช่องวางที่กว้างนั่นเอง ถ้าใส่ไปแล้วจะหลวม
…………………………….
ไม่ว่าขาวางเตาแก๊สแรงดันสูงที่ใช้กัน จะเป็นทรงไหน จะสูงแค่ไหน แต่ทุกตัวจะมีสิ่งนึงที่เหมือนกันก็คือ ช่องรูที่ไว้สำหรับใส่ตัว T เพื่อยึดตัวเตากับขาวางให้แน่นขึ้น อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ (ไปอ่านดูได้นะ) จะได้ทำอาหารได้อย่างสบายใจ
นอกจากนี้ บางคนอาจมีเตาแก๊สแรงดันสูงบางยี่ห้อหรือบางรุ่นที่เป็นรุ่นพิเศษที่ไม่อาจสามารถใช้กับขาวางเตาอย่างที่ผมได้บอกไป อาจเป็นเพราะตัวเตามีขนาดที่ใหญ่เป็นพิเศษ
ซึ่งทางที่ดี เวลาที่เราจะไปเลือกซื้อขาวางเตาแก๊สแรงดันสูงกับร้านค้าที่ขายเตา ให้สอบถามก่อนว่า “ขาวางเตาตัวนี้ จะสามารถใช้กับเตาตัวที่ผม/ฉันมีอยู่ได้หรือเปล่า??” เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น และจะได้ไม่ต้องเสียเวลากลับมาเปลี่ยนตัวใหม่
ทีนี้ก็คงจะไม่งงแล้วนะว่าขาวางเตาแก๊สแรงดันสูงที่ใช้กันมีอยู่กันกี่แบบ แต่ไม่ว่าเราจะใช้ขาวางเตาแบบไหน จุดมุ่งหมายที่เหมือนกันก็คือ ได้อาหารที่อร่อยๆเอาไว้ทานนั่นเอง : )
________________________________