อันนี้ก็ถือว่าเป็นอุปกรณ์อีกชิ้นนึงที่สำคัญมากสำหรับคนที่ใช้เตาแก๊สแรงดันต่ำ (หรือจะเรียกว่าเตาแก๊สอัตโนมัติก็ได้) เพราะถ้าไม่มีอุปกรณ์ตัวนี้ ก็คงจะนึกกันไม่ออกว่าจะทำอาหารกันอย่างไรนะ
ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้ก็คือ ขารองภาชนะเตาที่ใช้กับเตาแก๊สแรงดันต่ำนั่นเอง!! : )
โดยหน้าที่ของขารองภาชนะตัวนี้ก็คือเป็นตัวรองอุปกรณ์ภาชนะต่างๆที่ใช้ในการทำอาหารบนเตาแก๊ส (ซึ่งภาชนะเหล่านี้ก็จะเป็นกระทะและหม้อนั่นเอง) และขารองภาชนะเตาส่วนมากจะทำมาจากเหล็กหล่อหรือไม่ก็สแตนเลส
นอกจากนี้ ขารองภาชนะเตาแก๊สก็เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนอะไหล่ของเตาแก๊สแรงดันต่ำที่คนส่วนมากจะซื้อกันเยอะสุด อย่างที่ผมเคยเขียนไว้แล้ว
แล้วขารองภาชนะของเตาแก๊สแรงดันต่ำที่เราเห็นกันนั้นมีอยู่กี่แบบกี่ประเภทล่ะ?? และจะแบ่งออกกันอย่างไร??
ถ้าอย่างงั้นก็มาดูกันตามนี้เลยละกัน……
ผมจะแบ่งประเภทของขารองภาชนะออกเป็นสามส่วนเพื่อไม่ให้เกิดการสับสนตามดังนี้…… (เหมือนกับประเภทของหัวปรับแรงดันแก๊ส และผมก็ใส่เป็นเลขโรมันกำกับไว้ จะได้ไม่สับสน)
I.แบ่งตามรูปทรงของขารองภาชนะ
II.แบ่งตามประเภทของหัวเตาแก๊สที่ใช้
III.แบ่งตามแบบที่เรียกว่า 2 in 1 และแบบแยกสองส่วน
………………….
มาเริ่มจากส่วนแรกกันก่อน : )
I.แบ่งตามรูปทรงของขารองภาชนะ
อันนี้จะเป็นการแบ่งตามรูปทรงของตัวขารองโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าขารองภาชนะที่เราจะเอาไปวางบนเตาจะเป็นแบบเตาตั้งบนโต๊ะ, เตาตั้งบนพื้นหรือเตาแบบฝังในเคาน์เตอร์นะ ซึ่งถ้าแบ่งประเภทของขารองภาชนะตามรูปทรงก็จะมีอยู่ 3 แบบที่ใช้กันทั่วไปก็คือ:
1.ขารองภาชนะแบบทรงกลม
มีรูปทรงเป็นวงกลม ขารองภาชนะรูปทรงแบบนี้เป็นแบบที่พบเห็นกันมากที่สุด มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ โดยความยาวก็วัดจากเส้นผ่านศูนย์กลาง ส่วนมากจะมีขนาดอยู่ที่ระหว่าง 9 – 10 นิ้ว
2.ขารองภาชนะแบบทรงเหลี่ยม
มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยม ก็เหมือนกับขาแบบทรงกลม มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ขนาดของมันส่วนมากก็อยู่ที่ 9 – 10 นิ้ว
3.ขารองภาชนะแบบทรงพิเศษ
ทรงพิเศษในที่นี้ก็คือ รูปทรงของขารองภาชนะจะเป็นทรงเฉพาะๆที่สามารถใส่ได้กับเตาแก๊สบางรุ่นที่เป็นรุ่นเฉพาะๆอย่างเดียว ขาทรงพิเศษนี้ก็มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบตัวขาที่ด้านบนของมันเป็นทรงหัวมน, เป็นทรงวงรี, หรือไม่ก็เป็นทรงห้าเหลี่ยม ฯลฯ
แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าถ้าจะหาซื้ออะไหล่ขารองภาชนะทรงแบบนี้ ก็อาจจะหาค่อนยาก เพราะฉะนั้นถ้าใครใช้เตาแก๊สที่ขารองภาชนะเป็นทรงพิเศษอย่างที่ผมว่ามานี้ ก็ต้องแน่ใจว่าสามารถหาซื้ออะไหล่ทดแทนได้นะ
…………………………
ทีนี้มาดูส่วนที่สองในการแบ่งประเภทของขารองภาชนะ
ซึ่งก็คือ……
II.แบ่งตามประเภทของหัวเตาแก๊สที่ใช้
โดยทั่วไปจะมีอยู่สองแบบ ก็คือ 1.ขารองภาชนะที่ใช้กับหัวเตาไฟวน และ 2.ขารองภาชนะที่ใช้กับหัวเตาอินฟาเรด
ผมจะขออธิบายทั้งสองแบบนี้ไปพร้อมกันเลย พร้อมกับให้ดูจากรูปประกอบจะได้เข้าใจยิ่งขึ้น
ก่อนอื่น ถ้าใครเคยอ่านเรื่องที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับการเอาชิ้นส่วนอะไหล่เตาแก๊สไปเป็นตัวอย่างให้ร้านค้าดูก่อนที่จะซื้อนั้น ก็คงจะเข้าใจว่าผมจะสื่อถึงอะไร แต่ผมจะพูดอีกทีละกัน : )
เพราะสำหรับบางคนที่เป็นมือใหม่ เวลาที่จะเลือกซื้อขารองภาชนะเตา ก็ต้องดูว่าเตาแก๊สที่เราใช้นั้น (ที่เราจะซื้อขารองมาทดแทนตัวเดิม) เป็นแบบหัวเตาไฟวนหรือหัวเตาอินฟาเรด เพราะถ้าซื้อมาผิดประเภทก็จะใส่แทนกันไม่ได้
**(อธิบายเพิ่มเติม: หัวเตาไฟวนก็เป็นหัวเตาที่เป็นฝาเฟืองและมีเปลวไฟออกมา ส่วนหัวเตาอินฟาเรดเป็นหัวเตาที่เป็นแผ่นกระเบื้องคล้ายรังผึ้ง (เดี๋ยวจะได้เห็นจากรูป)**
วิธีง่ายๆเบื้องต้นที่จะรู้ได้ว่าขารองภาชนะแบบไหนใช้กับหัวเตาไฟวนหรือหัวเตาอินฟาเรดนั้น ผมให้ดูจากรูปล่างนี้กันก่อน
ผมเอาขารองภาชนะทั้งสองแบบมาเปรียบเทียบกัน (เอาเป็นแบบทรงกลมละกัน เพราะใช้กันเยอะมากอย่างที่บอกไว้ในส่วนแรก) ตัวซ้ายเป็นขารองภาชนะที่ใช้กับหัวเตาไฟวน ส่วนตัวขวาเป็นขารองภาชนะที่ใช้กับหัวเตาอินฟาเรด (ผมใส่ข้อความกำกับไว้ด้วย จะได้ไม่งง)
มองดูผิวเผินแล้ว มันดูคล้ายกันใช่มั๊ย????
มันดูคล้ายกันนะ แต่จริงๆแล้วมันไม่เหมือนกัน : )
วิธีง่ายๆเบื้องต้นที่จะรู้ได้ว่าขารองภาชนะแบบไหนใช้กับหัวเตาไฟวนหรือหัวเตาอินฟาเรดนั้น ให้ดูจากเครื่องหมายเส้นแดงเล็กๆที่ผมทำไว้ในรูปล่างตรงขาที่ใช้กับหัวไฟวน (ผมทำวงกลมไว้อีกทีจะได้เห็นชัดเจน)
เห็นหรือยังเอ่ย???
ตรงบริเวณที่ผมทำเครื่องหมายนั้น เป็นส่วนที่เรียกว่าส่วนขอบในของขารองภาชนะ (แต่ก็มีบางคนอาจเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นซึ่งก็ถือว่าไม่ผิดอะไร ก็แล้วแต่ละคนจะเรียก)
โดยส่วนขอบในตรงนี้แหละที่จะบอกได้ว่าขารองภาชนะตัวนั้นใส่กับเตาที่เป็นหัวเตาแบบไหน จากรูปก็เห็นได้ว่าขาที่มีส่วนขอบในจะใช้กับเตาแก๊สที่เป็นหัวเตาไฟวน
**ให้ดูรูปล่างแบบใกล้ๆและชัดๆเลย ตรงที่ผมทำลูกศรสีแดงก็คือส่วนขอบในของตัวขาวาง**
ส่วนขารองภาชนะตัวขวาที่ใช้กับหัวเตาอินฟาเรดจะไม่มีส่วนขอบใน ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่เห็นจากรูป (แต่ถ้าในกรณีที่ขารองที่ใช้กับหัวเตาอินฟาเรดมีส่วนขอบในด้วยซึ่งอาจพบเห็นได้ในเตาบางรุ่น ส่วนที่เป็นขอบในจะสั้นกว่าส่วนขอบในของขารองที่ใช้กับหัวเตาไฟวน)
และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นไปอีก ผมจะวางขาบนตัวเตาทั้งสองแบบให้ดูตามรูปล่าง: (ที่เห็นส่วนที่เป็นสีฟ้า นั่นก็คือแผ่นพลาสติกหุ้มไม่ให้ตัวเตาแก๊สมีรอยขีดข่วน ก่อนที่จะใช้ก็ต้องลอกพลาสติกฟ้านี้ออกมานะ)
ขารองภาชนะที่ใช้กับหัวเตาแก๊สแบบไฟวน
ขารองภาชนะที่ใช้กับหัวเตาแก๊สแบบอินฟาเรด
สรุปอีกทีนึง:
– ขารองภาชนะที่ใช้กับหัวเตาแก๊สแบบหัวไฟวนจะมีส่วนขอบใน
– ส่วนขารองภาชนะที่ใช้กับหัวเตาแก๊สแบบหัวอินฟาเรดจะไม่มีส่วนขอบใน (หรือถ้ามี ส่วนขอบในจะสั้นกว่าแบบขารองที่ใช้กับหัวเตาไฟวน)
คงจะเห็นภาพกันชัดเจนแล้วนะ : ) และผมก็ขอจบประเภทของขารองภาชนะในส่วนนี้แค่นี้ละกัน เอาแค่พื้นฐานง่ายๆก็พอ เดี๋ยวอธิบายมากก็จะยิ่งงงและสับสนกันเข้าไปใหญ่นะ !0__0!
………………..
ท้ายสุด ก็มาดูส่วนสุดท้ายกันของการแบ่งประเภทของขารองภาชนะเตาแก๊สแรงดันต่ำ ซึ่งก็คือ……
III.แบ่งตามแบบที่เรียกว่า 2 in 1 และแบบแยกสองส่วน
ขอเรียกเป็นแบบนี้ละกัน เพราะผมไม่รู้ว่าจะเรียกแบบนี้เป็นอย่างอื่นว่าอะไร แต่เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังว่าคำว่า 2 in 1 และแยกสองส่วนมันต่างกันอย่างไร อธิบายแบบพร้อมกันเลยพร้อมรูปประกอบ : )
อย่างที่เห็นจากหัวข้อ การแบ่งขารองภาชนะในส่วนนี้ก็จะมีอยู่สองแบบก็คือ 1.ขารองภาชนะแบบ 2 in 1 และ 2.ขารองภาชนะแบบแยกสองส่วน
อธิบายแบบง่ายๆ: ขารองภาชนะแบบ 2 in 1 เป็นขารองภาชนะสำเร็จรูปที่มีส่วนที่เป็นตัวขารองภาชนะด้านบนและส่วนที่เป็นตัวจานด้านล่าง(ที่วางอยู่บนร่องของที่วางหัวเตา)อยู่ในตัวเดียวกัน เพราะการใช้งานที่ง่ายที่เป็นแบบสำเร็จรูป ขารองภาชนะแบบนี้ใช้กันเยอะที่สุด ซึ่งที่เห็นจากรูปต่างๆของขารองภาชนะทั้งหลายในสองส่วนแรกที่ผมได้กล่าวไว้เป็นขารองภาชนะแบบนี้ (เหมือนในรูปล่าง)
ส่วนขารองภาชนะแบบแยกสองส่วนก็คือขารองภาชนะที่ส่วนที่เป็นขารองที่เป็นเหล็กและส่วนที่เป็นจานสแตนเลสด้านล่างแยกจากกัน ดูได้จากรูปล่างเพื่อให้เข้าใจได้ชัดยิ่งขึ้น
นี่ก็เป็นขารองภาชนะแบบแยกสองส่วน พอแยกออกมาก็จะเป็นแบบนี้ ด้านซ้ายเป็นจานด้านล่าง ส่วนด้านขวาเป็นตัวขารอง
เวลาเอามาใส่ที่เตาก็ต้องเอาส่วนจานสแตนเลสวางก่อนแล้วตามมาด้วยตัวขาเหล็ก ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่เห็นตามรูปล่าง : )
บางคนอาจถามว่า “แล้วขารองภาชนะแบบ 2 in 1 และขารองภาชนะแบบแยกส่วน แบบไหนดีกว่ากัน??” จริงๆทั้งสองแบบก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมัน ถ้าจะอธิบายแบบง่ายๆและสั้นๆเลย ก็คือ……….
ข้อดีของขารองภาชนะแบบ 2 in 1 (แบบที่ใช้กันเยอะสุด) คือใช้งานง่าย แค่วางขารองบนเตาและใช้งานได้เลย (เพียงแต่ว่าต้องใช้ให้ถูกประเภทอย่างที่บอกก่อนหน้านี้นะ) ส่วนข้อเสียคือขารอง 2 in 1 อายุในการใช้งานอาจไม่นานเท่าไหร่ เพราะเกิดจากการผุและกร่อนจนหักไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อเหล็กของขาวาง (บางคนใช้ไม่ถึงหนึ่งปีก็ต้องซื้อใหม่)
ส่วนข้อดีของขารองภาชนะแบบแยกสองส่วนก็คือ การใช้งานจะทนกว่าแบบ 2 in 1 เพราะส่วนที่เป็นขาวางส่วนบนที่ทำจากเนื้อเหล็กที่จะค่อนข้างหนากว่าแบบเนื้อเหล็กที่ใช้กับ 2 in 1 (แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป) ซึ่งจะทำให้การมีอายุการใช้งานที่นานกว่าแบบ 2 in 1 ส่วนข้อเสียคือราคาของขารองแบบนี้จะแพงกว่าแบบ 2 in 1 ก็เพราะว่าต้องซื้อทั้งขาเหล็กที่เป็นส่วนบนและจานรองส่วนล่าง ราคาก็เลยแพงกว่านั่นเอง
……………………..
ก็อย่างที่เห็นกัน นี่เป็นการแบ่งประเภทของขารองภาชนะของเตาแก๊สแรงดันต่ำแบบพื้นฐานทั่วๆไป (แบบง่ายที่สุดแล้วนะ แต่ผมก็ใช้เวลาในการเขียนนานเลย !=__=!)
บางคนที่อ่านแล้วก็อาจบอกว่าขารองภาชนะของเตาแก๊สแรงดันต่ำที่ตัวเองมีอยู่ไม่ได้มีตามที่ผมบอกไว้เลย ซึ่งก็ไม่ต้องตกใจหรือแปลกใจอะไร เพราะจริงๆขารองภาชนะของเตาแก๊สแรงดันต่ำมีอยู่หลายประเภทหลายแบบมากกว่าที่ผมบอก แต่ที่ผมเขียนขึ้นมาก็เป็นประเภทของขารองภาชนะเตาแก๊สแรงดันต่ำที่ใช้งานและพบเห็นได้ทั่วๆไปและสามารถหาซื้อได้
แต่ถ้าใครคิดว่าขารองภาชนะที่ตัวเองใช้อยู่ไม่มีอย่างที่ผมบอก วิธีที่สามารถทำได้ก็คือไปสอบถามจากร้านค้าที่ไปซื้อเตามาหรือไม่ก็สอบถามจากร้านค้าที่ขายเตาแก๊สโดยเฉพาะ เพราะร้านค้าเหล่านี้ก็มีประสบการณ์ในการขายขารองภาชนะเตาแก๊สมากกว่าร้านค้าทั่วไป (เพราะอย่างที่ผมเคยเขียนข้อนึงเกี่ยวกับวิธีการซื้อเตาแก๊สแรงดันต่ำซึ่งก็คือให้ซื้อเตาที่สามารถหาอะไหล่ทดแทนได้ ซึ่งก็รวมไปถึงขารองภาชนะด้วย)
ท้ายสุด หวังว่าคนที่ใช้เตาแก๊สเป็นประจำจะได้รู้กันเป็นพื้นฐานว่าขารองภาชนะของเตาแก๊สแรงดันต่ำมีกี่แบบกี่ประเภทนะ จะได้ไม่ต้องมานั่งงงกัน : )
_______________________________